"พวกมันทักทายด้วยการจูบและสวมกอดกัน พวกมันใช้การตบเบา ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่กัน พวกมันกุมมือ พวกมันแสวงหาการสัมผัสทางกายเพื่อบรรเทาความตื่นกลัว หรือความเครียด มันช่างเหมือนกับพวกเรามาก"
นี่คือสิ่งที่ ดร.เจน กูดอลล์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเรื่องลิงชิมแปนซีแถวหน้าของโลกอธิบายถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างมนุษย์กับชิมแปนซี ญาติใกล้ชิดที่สุดชนิดหนึ่งของเรา ซึ่งไม่ได้มีเพียงเท่านี้
"มันน่าตกใจมากที่พวกมันยังเหมือนเราในแง่ที่สามารถแสดงพฤติกรรมโหดร้ายและการต่อสู้กันแบบการทำสงคราม ขณะเดียวกันพวกมันยังชอบให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พวกมันต่างแสดงพฤติกรรมทั้งสองรูปแบบ" ดร.กูดอลล์ กล่าว
มนุษย์มีดีเอ็นเอเหมือนลิงชิมแปนซี 98.6% แต่โลกกลับมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้อยู่น้อยมาก จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวอังกฤษผู้นี้ได้เดินทางเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติกอมเบ ในแทนซาเนีย เมื่อปี 1960
ดร.กูดอลล์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีถึงการอุทิศตนยาวนาน 6 ทศวรรษเพื่อทำให้โลกได้สนใจเกี่ยวกับสัตว์กลุ่มไพรเมตเหล่านี้ และการที่พวกมันช่วยสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นมนุษย์ของพวกเรา
ชื่อเสียงในสื่อ
ดร.กูดอลล์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในปี 1965 จากการปรากฏตัวบนปกนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก
การทำงานของเธอถูกนำไปถ่ายทอดในหนังสารคดีเรื่อง Miss Goodall and the Wild Chimpanzees ซึ่งหนังเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ รวมทั้งข่าว บทความนิตยสาร และหนังสือต่าง ๆ เกี่ยวกับเธอได้ทำให้คนนับล้านทั่วโลกได้รู้จักกับพฤติกรรมทางสังคมและอารมณ์ของชิมแปนซีป่า
หนังสารคดีเรื่องดังกล่าวเผยให้เห็นภาพ ดร.กูดอลล์ เดินเท้าเปล่าอยู่ในป่าทึบ เล่นและกอดรัดฟัดเหวี่ยงอยู่กับลูกลิงชิมแปนซี สร้างภาพประทับใจให้ผู้ชมรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำอยู่คืองานในอุดมคติ
ดร.กูดอลล์ ซึ่งปัจจุบันกลับมาอยู่ที่บ้านของครอบครัวในเมืองบอร์นมัธทางชายฝั่งตอนใต้ของอังกฤษ นึกย้อนถึงภาพจำอันโด่งดังนั้น และเธอจำได้ถึงความยากลำบากในการสร้างความไว้วางใจในหมู่ลิงในฝูง
"พวกมันปฏิบัติกับดิฉันราวกับดิฉันเป็นสัตว์นักล่า" เธอเล่า
ตอนนั้นพวกลิงชิมแปนซีแสดงท่าทางก้าวร้าวดุดันต่อเธอ พวกมันส่งเสียงร้อง และแยกเขี้ยวใส่เธอ พวกมันห้อยโหนไปตามกิ่งไม้พร้อมกับพองขน
"ลิงไร้หางสีขาวที่แปลกประหลาด"
"มันน่ากลัวทีเดียว" ตอนนั้นเธอรู้ดีว่า ชิมแปนซีแข็งแรงกว่าเธอมาก แต่เธอก็สะกดความรู้สึกกลัวเอาไว้
"ต้องใช้เวลา 4 เดือนก่อนที่ดิฉันจะเข้าใกล้ลิงตัวหนึ่งได้พอประมาณ...และต้องใช้เวลา 1 ปีกว่าจะเข้าไปนั่งข้าง ๆ พวกมันได้ พวกมันไม่เคยเห็นลิงไร้หางสีขาวที่แปลกประหลาดตัวนี้มาก่อน"
จากนั้นเธอก็เริ่มผูกมิตรกับสมาชิกแต่ละตัวในฝูง และตั้งชื่อให้ลิงบางตัว
"เดวิด เกรย์เบียร์ด ยอมรับกล้วยจากดิฉัน และยอมให้ดิฉันช่วยดูแลขนให้ และอีกตัวก็เล่นกับดิฉัน" ดร.กูดอลล์ ยังจำได้ดี
เธอเรียนรู้ที่จะแยกแยะเสียงร้องต่าง ๆ ของลิง รวมทั้งวิธีการสื่อสารด้วยภาษาลิง และภาษากายของพวกมัน ซึ่งความเหมือนและความแตกต่างในการสื่อสารของคนกับชิมแปนซีได้สร้างความสนใจให้แก่เธอเป็นอย่างยิ่ง
"ชิมแปนซีไม่บอกลา พวกมันแค่เดินจากไป มันน่าตลกใช่ไหมคะ"
ใช้เครื่องมือ
ดร.กูดอลล์ ได้เห็นชิมแปนซีเพศผู้เต้นอย่างทรงพลัง และเห็นลูกลิงผูกพันกับแม่ของพวกมัน เธอยังได้เห็นความสามารถของพวกมันในการสร้างอุปกรณ์ขึ้นมาใช้งานด้วย
"ดิฉันเห็นมือสีดำของมัน (เดวิด เกรย์เบียร์ด) เลือกต้นหญ้า แล้วแหย่มันเข้าไปในจอมปลวก จากนั้นก็ดึงต้นหญ้าดังกล่าวออกมาพร้อมกับปลวก"
ดร.กูดอลล์รู้สึกตื่นเต้น "มันไม่ได้แค่ใช้วัตถุทำเครื่องมือ แต่ยังปรับแต่งวัตถุให้เป็นเครื่องมือด้วย"
สิ่งที่เธอค้นพบถือเป็นก้าวใหญ่ในการทำความเข้าใจลิงชิมแปนซี
ความกังขาในแวดวงวิชาการ
ขณะนั้นแวดวงวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักรแสดงความรู้สึกกังขาต่อวิธีการศึกษาและผลการค้นพบเกี่ยวกับชิมแปนซีของเธอเมื่อเธอเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
"ดิฉันไม่สามารถพูดเรื่องที่ชิมแปนซีมีบุคลิก ความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และมีอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างได้" ดร.กูดอลล์เล่า เพราะในยุคนั้นมีความเชื่อว่าลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น
"ชิมแปนซีควรมีเลขประจำตัวไม่ใช่ชื่อ" นักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นกล่าว
"ศาสตราจารย์เหล่านี้บอกว่าดิฉันทำผิดไปหมดทุกอย่าง"
การแยกฝูง
ดร.กูดอลล์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการให้ความรู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับลิงชิมแปนซี
แม้หลายคนจะไม่เคยได้เห็นลิงชิมแปนซีตัวจริงมาก่อน แต่ก็เกิดความรักความสนใจในสัตว์ชนิดนี้ ตอนที่ลิงจ่าฝูงที่เธอศึกษาอยู่ในแทนซาเนียตายลงในปี 1972 หนังสือพิมพ์เดอะไทมส์ ถึงกับเขียนข่าวการตายของมัน
ทว่า 2 ปีหลังจากนั้นก็มีการตายเพิ่มขึ้น
"ลิงเพศผู้จำนวนหนึ่งได้แยกตัวออกจากฝูงไปพร้อมกับลิงเพศเมียบางตัว แล้วยึดครองอาณาเขตตอนใต้ที่ลิงทั้งฝูงเคยอยู่ร่วมกัน" ดร.กูดอลล์เล่า
ชิมแปนซีเป็นสัตว์ที่มีลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มงวด และเนื่องจากในฝูงนี้มีลิงเพศผู้อยู่จำนวนมาก การแยกฝูงจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็น่าตกตะลึงเป็นอย่างยิ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างลิง 2 ฝูงเริ่มแปรเปลี่ยนไปเป็นศัตรูกันอย่างรุนแรง ลิงเพศผู้ของฝูงที่ใหญ่กว่าเริ่มทำร้ายลิงเพศผู้จากฝูงที่เล็กกว่าทีละตัว แล้วปล่อยให้พวกมันตายจากบาดแผลฉกรรจ์ที่ได้รับ
"พวกมันฆ่าลิงตัวที่เคยเล่นและดูแลขนให้กัน มันน่ากลัวมาก บาดแผลที่พวกมันทำต่อกันนั้นรุนแรงมาก" เธอเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น
การต่อสู้ที่เกิดขึ้น ซึ่ง ดร.กูดอลล์เรียกว่า "สงครามกลางเมือง" ระหว่างลิงที่เคยอยู่ฝูงเดียวกัน ดำเนินไปนานถึง 4 ปี
"ดิฉันเคยคิดว่าพวกมันเหมือนมนุษย์อย่างเรา แต่ดีกว่า ดิฉันได้ตระหนักว่าพวกมันเหมือนเรามากขึ้นไปอีก เพราะพวกมันมีด้านที่โหดร้ายแบบนี้เช่นกัน"
งานอนุรักษ์
หนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น คือในปี 1986 ดร.กูดอลล์ได้ไปร่วมงานสัมมนาทางวิชาการแห่งหนึ่ง และสภาพของลิงชิมแปนซีที่ถูกกักขังก็ทำให้เธอได้ตระหนักอย่างชัดเจนถึงภารกิจที่เธอต้องทำ
"ดิฉันไปในฐานะนักวิทยาศาสตร์และจากมาในฐานะนักกิจกรรม"
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้นำเธอไปสู่สหรัฐฯ ซึ่งเธอพยายามโน้มน้าวให้ผู้ที่ใช้ลิงชิมแปนซีในการทดลองทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนวิธีการของพวกเขา และเธอก็ประสบความสำเร็จ
"ในสหรัฐฯ ลิงชิมแปนซีทั้ง 400 ตัวที่สถาบันด้านสุขภาพแห่งชาติหลายแห่งใช้ในการทดลองได้ถูกนำไปไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์สัตว์หรือกำลังรอการส่งตัวไปยังศูนย์ที่กำลังสร้างขึ้นใหม่"
ในแอฟริกา ถิ่นที่อยู่อาศัยของชิมแปนซีกำลังลดลง และยังมีปัญหาการถูกล่าอยู่ดาษดื่น ดร.กูดอลล์ได้เห็นถึงปัญหานี้ในปี 1991 หลังจากอุทยานแห่งชาติกอมเบ เหลือขนาดเป็นเพียงผืนป่าเล็ก ๆ ที่ถูกห้อมล้อมด้วยภูเขาหัวโล้นอันแห้งแล้ง
นี่ทำให้เธอเริ่มทำโครงการ Roots and Shoots ที่ดำเนินการโดยสถาบันเจน กูดอลล์ เพื่อส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นเป็นแกนนำในการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าของพวกเขา
งานของ ดร.กูดอลล์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่หลายคน และบ่อยครั้งที่มักมีผู้คนเข้าไปพูดคุยและขอถ่ายรูปกับเธอ ทว่าหญิงวัย 86 ปีผู้นี้กลับชอบที่จะอยู่ตามลำพังในป่า โดยที่ไม่สนใจกับความสำเร็จของตนมากเท่าใดนัก
"ดิฉันเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่โชคดี และได้ทำสิ่งที่น่าสนใจในชีวิต" เธอกล่าว
August 19, 2020 at 08:31AM
https://ift.tt/31aIOPb
เจน กูดอลล์: นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ทำให้โลกรู้จักลิงชิมแปนซีมากขึ้น - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2wcicAM
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เจน กูดอลล์: นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ทำให้โลกรู้จักลิงชิมแปนซีมากขึ้น - บีบีซีไทย"
Post a Comment