Search

วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : เพิ่มผลผลิตการเกษตรด้วยเทคโนโลยี วว. - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

nscsscience.blogspot.com

วันอาทิตย์ ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 06.00 น.

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลผลิตหลากหลายชนิด ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามจากการเปิดตลาดเสรีทางการค้าในปัจจุบันส่งผลให้มีการแข่งขันสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรจะต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตให้สามารถแข่งขันได้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผ่านการดำเนินงานของสถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา ได้วิจัยและพัฒนาเพิ่มผลผลิตการเกษตรจำนวน 3 ผลงานวิจัย ได้แก่

เมนูผักหวานป่าสำเร็จรูปเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์


ประสบผลสำเร็จในการพัฒนา “แกงผักหวานป่าสำเร็จรูป” ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ช่วงนอกฤดูกาลของผักหวานป่า โดยการอบแห้งยอดและใบอ่อนของผักหวานป่าที่เหมาะสม ทำให้ยอดและใบอ่อนผักหวานป่ามีการเปลี่ยนแปลงของสีและคุณค่าทางโภชนาการเพียงเล็กน้อย กล่าวคือวิตามินซีของยอดผักหวานป่าโดยวิธีการทำแห้งเมื่อเปรียบเทียบกับยอดผักหวานป่าสดพบว่า วิตามินซีในยอดผักหวานป่าแห้งลดลงไม่เกินร้อยละ 10 ของยอดผักหวานป่าสด

สำหรับการรับประทาน ทำได้โดยนำส่วนผสมทั้งหมดเทใส่ชามและใส่น้ำประมาณ 250-300 มิลลิลิตร หรือประมาณ ¾ ของชาม แล้วนำไปอุ่นด้วยไมโครเวฟประมาณ 3 นาที หรือต้มในน้ำที่เดือดแล้วประมาณ 2 นาที

ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง เป็นผักที่มีรสชาติหวานอร่อย หารับประทานได้ค่อนข้างยากเนื่องจากผลผลิตมีบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และส่วนใหญ่เก็บมาจากพื้นที่ป่าธรรมชาติ ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้เกษตรปลูกผักหวานป่าเป็นค้ามากขึ้น ทำให้หลายพื้นที่มีผลผลิตจำหน่ายมากขึ้น แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 2,000 ไร่

ด้านคุณค่าทางด้านโภชนาการ ยอดและใบอ่อนของผักหวานป่าเป็นแหล่งของโปรตีน วิตามิน แคลเซียม ฟอสฟอรัส และให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมทั้งยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ เช่น วิตามินซี วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และสารประกอบฟีนอลิค ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าอนุมูลอิสระเป็นสารที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลของร่างกาย และสาเหตุของการเกิดโรคเสื่อม เช่น โรคมะเร็ง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคข้อ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น การรับประทานผักหวานป่าจึงไม่เพียงให้คุณค่าทางโภชนาการ หากยังได้รับสารอาหารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านหรือยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ ทำให้อัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสื่อมน้อยลง

การรับประทานผักหวานป่าจะใช้ส่วนยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อนมาลวกหรือนึ่งให้สุกเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ผัดน้ำมัน และแกง โดยเฉพาะแกงผักหวานป่าใส่ปลาแห้งหรือไข่มดแดง จัดว่าเป็นเมนูอาหารที่ยอดนิยมที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลผลิตผักหวานป่าที่จำหน่ายมีมากบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถบริโภคได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นการนำยอดและใบอ่อนของผักหวานป่ามาแปรรูป เพื่อทำแกงผักหวานป่าสำเร็จรูป จึงเป็นการช่วยแก้ปัญหาความต้องการบริโภคแกงผักหวานป่าในช่วงที่มีใบและยอดอ่อนน้อยและในท้องตลาดมีราคาที่สูง และเป็นแนวทางแก้ปัญหาในอนาคตหากผลผลิตผักหวานป่าล้นตลาด

การเพิ่มผลผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏานโดยใช้กากอ้อยโรงงานน้ำตาล

ประสบผลสำเร็จในการนำกากอ้อยโรงงานน้ำตาลมาใช้ทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา ซึ่งมีราคาแพง เนื่องจากค่าขนส่งจากแหล่งแปรรูปไม้ยางพารา ทำให้ต้นทุนในการผลิตเห็ดเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าวัสดุเพาะเห็ดนี้สามารถเพิ่มผลผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏานได้ 1.2-1.7 เท่า ของการใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเพียงอย่างเดียว โดยการใช้กากอ้อยโรงงานน้ำตาลทราย 25 เปอร์เซ็นต์ผสมกับขี้เลื่อย 75 เปอร์เซ็นต์ จะให้ผลผลิตของเห็ดนางฟ้าภูฏานมากที่สุด

เห็ดนางฟ้าภูฏาน (Bhuthanese Oyster mushroom) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pleurotus eous จัดอยู่ในวงศ์ Tricholomataceae ซึ่งเป็นเห็ดกลุ่มเดียวกับเห็ดนางรมแต่มีลักษณะที่แตกต่างกับเห็ดนางรมที่ชัดเจนคือ มีสีดอกเทาเข้มกว่า เนื้อแน่นกว่า ดอกไม่เหี่ยวง่ายเหมือนกับเห็ดนางรมและมีรสชาติดีกว่า จึงได้รับความนิยมนำมาใช้ปรุงอาหารจากผู้บริโภค รวมทั้งยังเป็นเห็ดที่มีการขยายพันธุ์ง่ายและผลผลิตสูง ทำให้ได้รับความนิยมเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลายจากเกษตรกร

การทำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฏาน ส่วนใหญ่ใช้ขี้เลื่อยจากไม้ยางพาราเป็นวัสดุเพาะเห็ด เนื่องจากมีปริมาณคาร์บอนซึ่งเป็นอาหารของเส้นใยสูง ก้อนเชื้อมีความทนทานสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายรุ่น อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่พบว่า การใช้ขี้เลื่อยจากไม้ยางพารามีราคาแพง เนื่องจากค่าขนส่งจากแหล่งแปรรูปไม้ยางพารา ทำให้ต้นทุนในการผลิตเห็ดเพิ่มสูงขึ้น

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก กล่าวคือมีโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อยจำนวน 46 โรง กระจายตัวในภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง 18 โรง ภาคเหนือ 10 โรง ภาคตะวันออก 5 โรง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 โรง

ในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมีวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการคือกากอ้อย (filter cake) ซึ่งเป็นวัสดุมีปริมาณธาตุอาหารและมีค่าคาร์บอนต่อไนโตรเจนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ด ดังนั้นการนำกากอ้อยโรงงานน้ำตาลมาใช้ทดแทนขี้เลื่อยไม้ยางพารา จึงเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตเห็ดและลดต้นทุนในการขนส่ง

การเพิ่มผลผลิตผักกาดหอมใบด้วยหลอดไดโอดเปล่งแสง

ดำเนินการพัฒนาออกแบบและทดสอบกระโจมพลังงานแสง โดยใช้ไดโอดเปล่งแสงเป็นแหล่งกำเนิดแสงสำหรับปลูกผักกาดหอมใบขนาด 1 ตารางเมตร พบว่ามีการใช้กระแสไฟน้อยกว่าการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ประมาณ 4 เท่า และให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ 1.8 เท่าและสูงกว่าการใช้แสงธรรมชาติ 1.3 เท่า ส่วนการใช้ไดโอดเปล่งแสงเพื่อเพิ่มแสงในตอนกลางคืน (กลางวันใช้แสงธรรมชาติ) ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า เมื่อเทียบกับแสงธรรมชาติ นอกจากนี้การใช้หลอดไดโอดเปล่งแสงยังทำให้อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมสั้นลง 5 วัน เมื่อเทียบกับการใช้แสงธรรมชาติ (ไดโอดแสงใช้เวลาเก็บเกี่ยว 31 วัน ส่วนแสงธรรมชาติใช้เวลาเก็บเกี่ยว 36 วัน)

ผักกาดหอมใบ (Leaf lettuce) เป็นผักกาดหอมชนิดที่ไม่ห่อหัวมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนจนถึงสีแดง แต่ส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์ที่มีสีเขียวอ่อน เพราะสามารถปลูกได้ตลอดปี แต่ระยะปลูกที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน ส่วนในฤดูฝนไม่นิยมปลูกเนื่องจากปริมาณแสงไม่เหมาะสมและผลผลิตอาจเสียหายจากน้ำฝนได้ จากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกผักกาดหอมในบางช่วงเวลา ทำให้มีการนำโรงเรือนมาปลูกผักกาดหอมมากขึ้น เนื่องจากผักกาดหอมเป็นที่ต้องการของตลาดและบางชนิดมีราคาสูง

อย่างไรก็ตาม การที่แสงจากธรรมชาติไม่เพียงพอ เป็นปัญหาที่สำคัญในการผลิตผักกาดหอมทั้งสภาพโรงเรือนและพื้นที่ทั่วไป ดังนั้นจึงมีการนำแสงจากหลอดไฟชนิดต่างๆ เช่น หลอดนีออน หลอดฟลูออเรสเซนต์และหลอดทังสเตน เป็นต้น มาทดแทนแสงจากธรรมชาติ แต่ก็ประสบปัญหาเนื่องจากหลอดบางชนิดมีราคาสูง และใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยเพิ่มผลผลิตการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี วว. ได้ที่Call Center วว. โทร.0-25779300 หรือที่ โทร.0-25779000โทรสาร 0-25779009 ในวันและเวลาราชการ หรือที่สถานีวิจัยลำตะคองโทรศัพท์/โทรสาร 044-390107,044 390 150 www.tistr.or.thE-mail : lamtakhong@tistr.or.th

กองประชาสัมพันธ์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

Let's block ads! (Why?)




June 07, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/379GRUk

วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : เพิ่มผลผลิตการเกษตรด้วยเทคโนโลยี วว. - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2wcicAM


Bagikan Berita Ini

0 Response to "วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : เพิ่มผลผลิตการเกษตรด้วยเทคโนโลยี วว. - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.